วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 11, 2555

เลือกเพาเวอร์ซัพพลาย ง่ายๆ ได้ประโยชน์








เพาเวอร์ซัพพลาย ที่ในอดีตหลายคนมองว่าอะไรก็ได้ ติดเคสมาก็ทำงานได้เหมือนกัน แต่มาวันนี้เชื่อหรือไม่ว่า หลายคนเลือกที่จะกำเงินมาเพื่อซื้อเพาเวอร์ซัพพลายที่ถูกใจโดยเฉพาะและให้ ความสำคัญทัดเทียมกับอุปกรณ์อื่นๆ  โดยเฉพาะคนที่ประสบกับปัญหามากับตัว ย่อมรู้ดีกว่าใคร
ปัญหาจากเพาเวอร์ซัพพลายมีด้วยกันหลายแบบ ตั้งแต่ตรวจหาฮาร์ดดิสก์ไม่เจอ เกิด Bad Sector, เครื่องแฮงก์ ไปจนถึงบูตไม่ขึ้น ซึ่งก็แล้วแต่อาการ จึงทำให้หลายคนใส่ใจอุปกรณ์ตัวนี้มากขึ้น แต่ด้วยเพาเวอร์ซัพพลายมีจำหน่ายมากมายหลายรุ่น จะเลือกแบบไหน จึงจะเหมาะกับการใช้งาน ที่สำคัญคือ ต้องเลือกแบบใด จึงจะได้เพาเวอร์ซัพพลายที่ดี คุ้มค่าคุ้มราคา รวมถึงรองรับกับการใช้งานได้เพียงพอกับอุปกรณ์ต่างๆ ภายในเครื่องอีกด้วย

เพาเวอร์ซัพพลายคุณภาพดีของจริง ต้องมีค่า Power Efficiency ระดับ 80 เปอร์เซ็นขึ้นไป ซึ่งในสเปกจะระบุค่านี้มาอย่างแน่นอน ส่วนมาตรฐาน 80+ Certified ซึ่งเป็นมาตรฐานการทดสอบใหม่ที่เพิ่มเข้ามานั้น มีแต่เพาเวอร์ซัพพลายรุ่นใหม่ๆ เท่านั้นได้ผ่านการทดสอบนี้ และการมาตรฐานนี้ก็เน้นไปด้านการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า

 

เพาเวอร์ซัพพลายทำหน้าที่แปลงแรงดันไฟกระแสสลับ 220V AC ที่รับเข้าไปออกมาเป็นแรงดันกระแสตรง DC ช่วง +3.3V, +5V, +5VSB, +12V และ (–12V) เพื่อจ่ายให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งช่วงแรงดันไฟ +12V เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์หลักในเครื่องไม่ว่าจะเป็นซีพียู กราฟิกการ์ด ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์บริโภคกำลังไฟจาก +12V แทบทั้งสิ้น การออกแบบเพาเวอร์ซัพพลายจึงเน้นไปที่วงจรภาคจ่ายไฟ +12V เป็นพิเศษ ส่วนจะเลือกแบบรางเดี่ยวหรือรางคู่ก็แล้วแต่ความเหมาะสม


การระบายความร้อนได้เร็ว เพาเวอร์ฯ จะมีอยู่ 2 แบบหลักคือ คือใช้พัดขนาด 120mm เพียงตัวเดียวติดที่ตรงบริเวณด้านล่างและแบบใช้พัดลมขนาด 80mm ติดด้านหลังเพาเวอร์ฯ ซึ่งแบบนี้จะระบายความร้อนได้ดี เพราะดูดความร้อนออกจากภายในเพาเวอร์ฯ ได้เต็มที่ ขณะแบบที่ติดพัดลมด้านล่างตัวถังนั้น อาจต้องใช้เวลามากกว่าในการดันความร้อน แต่ก็ช่วยเป่าแผงวงจรได้เต็มที่ ซึ่งเพาเวอร์ซัพพลายส่วนใหญ่ก็ใช้แบบดังกล่าวนี้ แต่ถ้ามีทั้งดูดและเป่าออกก็ยิ่งน่าใช้

สุดท้ายคือเรื่องของการออกแบบ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงฟังก์ชัน เช่นการถอดสาย ซึ่งจะช่วยให้จัดระเบียบภายในได้ง่าย การหุ้มสาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือแม้กระทั่งวัสดุที่เป็น ตัวถัง ที่ไม่เกิดรอยขูดขีดได้ง่าย


การติดตั้งก็เพียงเอาเพาเวอร์ตัวเก่าออก จากนั้นค่อยๆ วางเพาเวอร์ตัวใหม่เข้าไป ดูที่รูทั้ง 4 ให้ตรงกับรูด้านหลังของเคส แนะนำว่าให้ใช้มือประคองไว้ข้างหนึ่ง แล้วจึงไขน็อตยึดเข้ากับตัวเคส โดยการไขให้พออยู่ก่อนทั้ง 4 จุด เพื่อให้สามารถขยับไปมาได้เล็กน้อย จากนั้นจึงไขยึดแน่นอีกครั้งหนึ่งภายหลัง


นอกจากนี้เมื่อต่อสายเพาเวอร์เข้ากับอุปกรณ์ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ก็ควรจะต้องจัดเก็บสายให้เรียบร้อย เพื่อให้ภายในมีพื้นที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ได้ง่ายและระบายความร้อนได้ดี โดยใช้วิธีรวบเก็บและซ่อนสาย ซึ่งอาจจะใช้เวลานานขึ้น แต่ก็ส่งผลดีต่อการใช้งานในระยะยาว
*Power Efficiency เป็นค่าประสิทธิภาพของการแปลงแรงดันไฟสลับ AC ไปเป็นแรงดันไฟตรง DC ของเพาเวอร์ซัพพลายรุ่นนั้นๆ โดยคิดเทียบเป็นเปอร์เซนต์ของแรงดันไฟสลับ AC ที่รับเข้ามา เช่น เพาเวอร์ฯ รับไฟเข้ามา 100W แต่แปลงเป็นแรงดันไฟ DC ได้กำลังไฟเพียง 70W เท่ากับว่าเพาเวอร์ซัพพลายรุ่นนี้มีค่า Power Efficiency เท่ากับ 70% เท่านั้น ฉะนั้นค่านี้ยิ่งสูงก็ยิ่งดี
Tips
1.สามารถดูมาตรฐานและค่าแรงดันไฟได้จากฉลากด้านข้างเพาเวอร์ฯ
2.หากต้องการใช้ฟีเจอร์พิเศษเช่น CrossFire หรือ SLI ก็ควรดู Molex จ่ายไฟให้เพียงพอ
3.ควรจะปิดสวิทช์ที่ตัวเพาเวอร์ทุกครั้งหลังเลิกใช้คอมพิวเตอร์



ที่มา : http://www.commartthailand.com/buyerguide/เลือกเพาเวอร์ซัพพลาย ง่ายๆ ได้ประโยชน์